วันพฤหัสบดีที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2554

การรักษาโรคปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง

ปวดหลัง

การรักษาโรคปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง (โรงพยาบาลพญาไท)
โดย นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์

          คุณหยาดทิพย์ อายุ 31 ปี อาชีพเป็นพนักงานรับโทรศัพท์ในบริษัท ลักษณะงานที่ทำอยู่ต้องนั่งติดอยู่กับที่เป็นเวลาต่อเนื่องนานหลายชั่วโมง ต้องโทรศัพท์ติดต่อกับลูกค้าวันละหลายหน นั่งทำงานอยู่อย่างนี้ทุกวัน เกิดความรู้สึกตึง ๆ เจ็บ ๆ ที่สะบัก คิดว่าน่าจะไม่มีอะไรมาก คงเป็นกล้ามเนื้อยึด ตกบ่ายอาการเริ่มเป็นมากขึ้น คราวนี้ปวดมากขึ้นที่สะบัก ร่วมกับมีอาการปวดร้าวไปที่ก้านคอ บางครั้งก็ปวดลงที่เบ้าตา หางคิ้ว มีอาการปวดและวิงเวียนศีรษะ 

          พอมีอาการแบบนี้นึกถึงหมอนวดแผนโบราณเป็นอันดับแรก ลองไปนวด อาการที่ปวดคอ ปวดสะบักก็ดีขึ้น หลังจากนั้นหนึ่งสัปดาห์อาการปวดก็กลับมาเป็นอีก คราวนี้มีอาการปวดร้าวไปที่ต้นแขน ใจสั่นคล้ายอยากอาเจียน พะอืดพะอมเหมือนโรคกรดไหลย้อน แต่ก็ต้องแข็งใจนั่งทนทำงานต่อไป

          ลองทานยาคลายกล้ามเนื้อแล้ว อาการปวดก็ทุเลาลงเล็กน้อย เวลาเป็นก็นอนหลับไม่สนิท ต้องตื่นขึ้นกลางดึกหลายครั้ง เพราะมีอาการปวดสะบัก ทำให้คล้ายเป็นคนอดนอนง่วงเหงาหาวนอนบ่อย ๆ ตอนกลางวัน นานวันเข้าจากอาการที่นาน ๆ เป็นที คราวนี้เป็นตลอดเวลาโดยเฉพาะเวลานั่งทำงาน พอนั่งทำงานได้เพียงแค่ไม่เกิน 10 นาที ก็มีอาการปวดอีก เป็นอาการปวดแบบน่ารำคาญ มีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย มีอาการชาตามมือ วิตกกังวล ซึมเศร้า หดหู่ ชีวิตไม่เป็นปกติสุขเลย เห็นท่าจะไม่ดีเลยไปปรึกษาคุณหมอที่โรงพยาบาล ทำการตรวจร่างกาย คุณหมอพบว่า มีลักษณะอาการเข้าได้กับโรค "กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง" หรือที่เรียกว่า "Myofascial Pain Syndrome"

รู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคนี้

          คุณหมอบอกว่าคนที่เป็นโรคปวดกล้ามเนื้อนี้ จะมีลักษณะป็นกลุ่มอาการหลากหลายร่วมกันได้แก่ ปวดกล้ามเนื้อเป็นแถบ ๆ หรือซีกใดซีกหนึ่ง แบบปวดน้อย ๆ พอทนได้จนเป็นความปวดแบบซ้ำซาก ไปจนปวดมาก ๆ จนแทบจะทนไม่ได้ มีอาการปวดร้าวไปที่อื่น เช่น ศีรษะร้าวลงแขน หรือร้าวลงไปที่กล้ามเนื้อส่วนอื่นที่อยู่ใกล้เคียงได้ พบว่าการตรวจร่างกายจะพบอาการแสดงที่สำคัญคือ บริเวณกล้ามเนื้อที่มีจุดกดเจ็บ และจุดกดแบบกดแล้วมีอาการปวดร้าว ส่วนมากอาการปวดคอ สะบัก มักจะมีจุดกดเจ็บอยู่บริเวณตำแหน่งกระดูกคอ ต่อกับกระดูกสะบัก อยู่ในตำแหน่งกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่เชื่อมระหว่างกระดูกคอ และกระดูกสะบักด้านบน

ทำไมถึงเป็นโรคนี้ แล้วจะมีวิธีการรักษาได้อย่างไร

          โรคนี้เกิดจากสาเหตุได้หลายประการ ได้แก่

           1. การบาดเจ็บทางร่างกายอย่างรุนแรง เช่น อุบัติเหตุทางการกีฬา, อุบัติเหตุทางรถยนต์ มีการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อมาก่อน แต่ในขณะนั้นร่างกายยังมีความแข็งแรง อาการบาดเจ็บจึงยังแสดงไม่เห็นเด่นชัด

           2. การบาดเจ็บแบบน้อย ๆ แต่เป็นแบบซ้ำซาก เช่น การนั่งทำงานที่ผิดอิริยาบถเป็นเวลาติดต่อกันนาน ๆ ได้แก่พวกชอบนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์นาน ๆ ไม่ชอบออกกำลังกาย ทำให้กล้ามเนื้อบางกลุ่มต้องทำงานหนักตลอดเวลา จึงเกิดการหดเกร็งเป็นก้อน (Taut Band) ตามมา 

          หากกล้ามเนื้อไม่มีโอกาสได้คลายตัว หรือไม่ได้รับการรักษา จะทำให้กล้ามเนื้อเกิดการหดเกร็งมากขึ้น เป็นเหตุให้เกิดอาการปวด แม้ว่าจะไม่ได้มีการลื่นหกล้ม หรือบาดเจ็บใด ๆ มาก่อนก็ตาม รวมถึงมีอาการเหนื่อยล้า ชาตามปลายมือและเท้าได้เหมือนขาดวิตามินบี วิตามินซีอีกด้วย ซึ่งอาการเหล่านี้เกิดจากพฤติกรรมที่เราทำเอง จากงานประจำที่ต้องทำซ้ำ ๆ เหมือนเป็นชีวิตประจำวันของเราไปแล้ว

           3. โรคข้อเสื่อมที่พบมากได้แก่ หมอนรองกระดูกคอเสื่อม ทำให้มีอาการปวดคอ กล้ามเนื้อคอหดเกร็งตามมา

           4. ความวิตกกังวล เครียด ซึมเศร้า

การรักษาทำได้อย่างไรบ้าง

          การรักษาที่ได้ผลดี ต้องทราบสาเหตุของการเกิดโรคที่แน่ชัด เช่น การปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง อันมีสาเหตุมาจากหมอนรองกระดูกคอเสื่อม ต้องทำการรักษาที่ต้นเหตุของโรค มิฉะนั้นการรักษาแต่ปลายเหตุ อาจทำให้อาการปวดกลับมาเป็นซ้ำอีก โดยทั่วไป ได้แก่

           1. ลดการนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ต่อเนื่อง ติดต่อกันนานเกินกว่า 1 ชั่วโมง

           2. การรักษาโดยการนวดแบบผ่อนคลาย สามารถให้ผลลดอาการปวดได้ดี แต่ต้องทำอย่างต่อเนื่องนาน 2 สัปดาห์

           3. การยืดกล้ามเนื้อด้วยตนเอง โดยการยืดหรือ Stretching exercise จนถึงจุดมีอาการปวดเล็กน้อย ทำคราวละ 10 ครั้ง วันละ 2 รอบ นานอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ให้กล้ามเนื้อมีอาการยืดนาน 20-30 วินาที

           4. การทำกายภาพบำบัด เช่น การประคบร้อน การใช้ Ultrasound ให้ความร้อนแบบลึกลงไปในชั้นของกล้ามเนื้อ การยืดคอหรือดึงคอด้วยอุปกรณ์ที่แผนกกายภาพบำบัด นานต่อเนื่อง 2 สัปดาห์ ๆ ละ 3-5 ครั้ง

           5. การลงเข็ม หรือการใช้เข็มช่วยให้กล้ามเนื้อที่หดเกร็งมีการคลายตัว

           6. การฉีดยาตรงจุดกดเจ็บโดยแพทย์ จะทำการค้นโดยการคลำจุดกดเจ็บที่มีการปวดร้าว ใช้ยาชา หรือยาชาผสมยาสเตียรอยด์ เพื่อช่วยชำระล้างสารก่อให้เกิดอาการอักเสบบริเวณเฉพาะที่ตำแหน่งกดเจ็บนั้น ๆ

           7. การพักผ่อนให้เพียงพอ เข้านอนแต่หัวค่ำ เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย

           8. การปรับเปลี่ยนอิริยาบถ การนั่ง, การยืน ให้มีการยืดตัวเสมอ ๆ ออกกำลังกายให้มากขึ้น อย่างน้อยตื่นเช้ามาต้องมีการแกว่งหัวไหล่ทั้ง 2 ข้าง ด้านหน้า 20 ครั้ง ด้านหลัง 20 ครั้ง เพื่อให้มีการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อรอบ ๆ หัวไหล่และสะบัก ป้องกันการเกิดพังผืด และหัวไหล่ติดยึด รวมถึงการเปลี่ยนกิจวัตรประจำวัน ทำกายและใจให้รู้สึกผ่อนคลาย หลีกเลี่ยงการนั่งที่ซ้ำ ๆ ต่อเนื่อง หลีกเลี่ยงการนั่งเก้าอี้ที่นั่งแล้วมีการยุบตัว เช่น โซฟา หรือเบาะรองนั่งต้องมีการเสริมด้วยหมอนรองก้น เพื่อให้มีความแข็งแรงขึ้น
   
          ทั้งหมดที่กล่าวมาอาการปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง จะสามารถรักษาได้ขึ้นกับคำว่า "เข้าใจ" และ "ปรับเปลี่ยน" กิจวัตรประจำวันที่บั่นทอนสุขภาพของเราไปทีละเล็กทีละน้อยทุก ๆ วัน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก

การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐนะครับ
หมั่นดูแลตัวเองนะครับเพื่อนจะได้ห่างไกลจากโรคร้าย

สุดท้ายผมขอฝากเรื่องข้อต่อและกระดูกไว้ด้วยครับ
เพราะปัจจุบันนี้โรคเกี่ยวกับข้อต่อและกระดูก
เป็นภัยเงียบที่น่ากลัวผมไม่อยากเห็นเพื่อนๆ
หรือคนที่เพื่อนๆรักป่วยเป็นโรคเหล่านี้
เพราะมันอาจจะรุนแรงถึงขั้นเดินไม่ได้เลยนะครับ
ยังไงผมก็ฝากเรื่องนี้ไว้ด้วย
ด้วยความห่วงใยจากผม
แล้วพบกันใหม่ในบทความหน้านะครับ
สวัสดีครับ
สนใจแนวทางป้องกัน ดูแลสุขภาพของข้อเข่าและข้อต่อต่างๆในร่างกาย อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่
บทความอ่านเล่นที่จะเปิดวิสัยทัศน์ของคุณให้กว้างไกล


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น