วันอาทิตย์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

สุขภาพดีอยู่ที่กินและถ่าย

สุขภาพ

สุขภาพดีอยู่ที่กินและถ่าย 
เรื่อง : พญ.ศันสนีย์  อำนวยสกุล , เรียบเรียง : ประพนธ์ งามวิเศษกุล

          "มาช้าจังเลย เดี๋ยวก็ไปไม่ทันนัดหรอก"

          "เช้านี้ฉันรู้สึกไม่มั่นใจเลย ใส่ชุดอะไรก็ไม่สวย"

          "มานี่สิ (เพื่อนสาวชูโยเกริต์ให้หนึ่งถ้วย) มีส่วนช่วยในการขับถ่ายนะ"

          "อือ อร่อย แล้วดีจริง ๆ เหรอ"

          "ก็ดูฉันสิ  (เพื่อนสาวอวดหุ่นสวยอย่างภาคภูมิใจ)"

          จากบทสนทนาจะเห็นได้ว่า ผู้หญิงคนหนึ่งรู้สึกไม่มั่นใจในรูปร่างของตัวเอง ทั้ง ๆ ที่เมื่อคืนก่อนนอนก็ยังไม่ได้มีความรู้สึกนั้น เพราะอะไรเธอจึงเกิดความรู้สึกดังกล่าว  นั่นเพราะเมื่อตอนที่เธอตื่นมาเจอกับหน้าท้องพองลม แล้วระบบขับถ่ายไม่ยอมทำงานตามปกติ หรือที่เรียกว่า "ท้องผูก" ส่งผลให้ของเสียที่ควรจะถูกขับถ่ายออกจากร่างกายยังคงตกค้างอยู่จึงทำให้หน้าท้องป่อง เท่านั้นยังไม่พอ ยังส่งผลกระทบทางด้านจิตใจทำให้ขาดความมั่นใจไปในทันที

          อาการท้องผูกในคนทั่วไปนั้นพบบ่อย 5 –20 % โดยผู้หญิงจะเป็นบ่อยกว่าผู้ชายถึง 3 เท่า ในผู้สุงอายุก็พบอาการท้องผูกได้บ่อยกว่าเช่นกัน อาการท้องผูกส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต ทั้งอาชีพการงาน และการทำกิจกรรมต่าง ๆ โดยมีการเปิดเผยตัวเลขเกี่ยวกับการใช้บริการทางการแพทย์เป็นมูลค่าถึง 2,752 ดอลล่าร์สหรัฐ ต่อคนไข้ 1 คนในการตรวจวินิจฉัยในโรงพยาบาลใหญ่ ๆ เราลองมารู้จักอาการท้องผูกสักนิดเพื่อจะได้ดูแลตนเองเบื้องต้นได้

          ถ่ายเบา ถ่ายหนัก ถือเป็นกิจวัตรประจำวันสำหรับคนปกติ หากวันไหนรู้สึกไม่อยากถ่าย หรืออยากปลดปล่อยใจจะขาดแต่มันไม่ยอมสักที นั่นแสดงว่าระบบขับถ่ายของคุณเริ่มมีปัญหาแล้วล่ะ
    
          แต่คนส่วนใหญ่มักคิดว่าการถ่ายทุกวันเป็นเรื่องดี แต่ในความเป็นจริงแล้ว การถ่ายทุกวันก็ถือว่าไม่ปกติเช่นกัน
    
          จริง ๆ แล้วอาการท้องผูกคือ เบ่งถ่ายยาก อุจจาระแข็ง รู้สึกถ่ายไม่หมด รู้สึกว่ามีการอุดตันที่บริเวณทวารหนัก ต้องช่วยสวนทวาร ต้องอาศัยยาจึงทำให้อุจจาระไม่แข็ง ถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้ง/สัปดาห์ หรือรู้สึกถ่ายน้อยกว่าคนปกติ จะเห็นว่าความสำคัญอยู่ที่ลักษณะของอุจจาระและการขับถ่ายมากกว่าความถี่ในการอุจจาระ บางครั้งท้องผูกเกิดได้ฉับพลัน แต่ก็เป็นช่วงเวลาสั้น ๆ ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นช้า ๆ และอยู่นานเป็นเดือน เป็นปี  

          ท้องผูกเรื้อรัง ตัดสินจากระยะเวลา คือเริ่มมีอาการท้องผูกอย่างน้อย 6 เดือน ก่อนการวินิจฉัย และเป็นอยู่นานติดต่อกันอย่างน้อย 3 เดือน และต้องไม่ใช่ลำไส้แปรปรวน (IBS) ที่รู้สึกปวดหรือไม่สบายท้อง แต่ดีขึ้นเมื่อได้ถ่ายอุจจาระเป็นอาการเด่น โดยมีอาการท้องผูกร่วมด้วย ที่ต้องแยกการวินิจฉัย เพราะ IBS ให้รักษาอาการปวด โดยอาจไม่จำเป็นต้องให้ยากระตุ้นการขับถ่าย หรือทำให้ถ่ายอุจจาระเหลวมากขึ้น
    
          สาเหตุของอาการท้องผูกที่ไม่ได้มีโรครุนแรงซ่อนอยู่ได้แก่ ดื่มน้ำไม่เพียงพอ กินอาหารน้อย กินเส้นใยอาหาร (Fiber) น้อย ขาดการออกกำลังกาย ถึงเวลาปวดถ่ายไม่ยอมเข้าห้องน้ำ หรือแม้แต่การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาลดกรด ยาแก้แพ้ ยาขับปัสสาวะ ยารักษาความดันสูงบางชนิด ยาบำรุงเลือดธาตุเหล็ก ยาแก้ไอ ยาแก้ปวดบางชนิด ยาลดกรดที่มีอะลูมิเนียม และที่พบได้บ่อยมาก คือใช้ยาถ่ายบ่อยเกินไป
    
          ส่วนอาการท้องผูกเรื้อรังนั้น อาจมีสาเหตุจากโรคต่าง ๆ เช่น มะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งลำไส้ใหญ่ เนื้องอกจะอุดตันลำไส้ ทำให้ถ่ายไม่ออก เบาหวาน โรคฮอร์โมนธัยรอยด์ต่ำ โรคทางระบบประสาท เช่น พาร์กินสัน สมองเสื่อม อัมพาต สมองได้รับบาดเจ็บ โรคซึงเศร้า โรคในลำไส้อื่น ๆ เช่น กระเปาะของผนังลำไส้ ลำไส้โป่งพอง หลังการผ่าตัดในช่องท้องการตีบแคบ หรือลำไส้เคลื่อนไหวช้า เป็นต้น 

ทำอย่างไรไม่ให้ท้องผูก

           1.ดื่มน้ำให้ได้วันละประมาณ 1-2 ลิตร ถ้าไม่มีโรคหัวใจ โรคของเส้นเลือด โรคไตอยู่ บางคนอาจท้องผูกจากการดื่มนมหรือรับประทานแคลเซียมในปริมาณมาก

           2.เข้าห้องน้ำทันทีเมื่อรู้สึกปวดถ่าย ไม่ควรรอหรือทนอั้นไว้เพราะยิ่งรอไว้นาน ยิ่งเพิ่มอาการท้องผูก และควรฝึกขับถ่ายเป็นเวลา

           3.ออกกำลังกายน้อย หรือใช้เวลานอนบนเตียงนาน ๆ เช่น คนป่วยนอนโรงพยาบาลนาน ๆ ทำให้ท้องผูก จึงควรขยับเขยื้อนร่างกาย ออกกำลังกายเสมอ ๆ เป็นสิ่งที่ดีที่สุดถ้ามีอาการปวดข้อ อาจลองทำกายบริหารในสระว่ายน้ำ

           4.หลีกเลี่ยงอาหารที่มีใยน้อย เช่น ไอศกรีม ชีส หรือเนยแข็ง เนื้อวัว ควรหลีกเลี่ยงชา กาแฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะจะปัสสาวะบ่อย ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำ

           5.ทานอาหารที่มีใยอาหาร 20-30 กรัมต่อวัน เพราะใยอาหารจะทำให้เนื้ออุจจาระอุ้มน้ำมากขึ้น แล้วค่อย ๆ เพิ่มปริมารของใยอาหารในทุก ๆ สัปดาห์ เพื่อให้ร่างกายปรับตัวจะได้ไม่เกิดอาการท้องอืดแน่น

           6.หลีกเลี่ยงการใช้ยาระบาย หรือการสวนทวารนาน ๆ เพราะไม่ใช่วิธีการรักษาให้หายขาด การใช้ยาระบายนาน ๆ ทำให้ร่างกายลืมหน้าที่ตนเอง

          หากปฏิบัติข้อ 1-6 แล้วไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อการตรวจวินิจฉัย และรักษาอย่างถูกต้อง 

Tip

          ใยอาหารพบในผัก เช่นคะน้า กวางตุ้ง ผักโขม ผลไม้ เช่น ส้ม มะละกอ และผลไม้ที่กินได้ทั้งเปลือก ควรกินผักผลไม้ให้ได้ 4-5 ส่วนต่อวัน (ประมาณ 5 ทัพพีหรือ 1 ฝ่ามือผู้ใหญ่) เมล็ดัญพืช ถั่ว ลูกพรุน ข้าวกล้อง โฮลวีต ฯลฯ โดยเฉพาะพรุนนั้นเป็นผลไม้ที่มีไฟเบอร์มากเป็นพิเศษ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น